เดือยฟัน, ครอบฟันและสะพานฟัน

  • เดือยฟัน

มักทำหลังจากที่คนไข้ได้รับการรักษารากฟันเสร็จเรียบร้อยแล้วเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับรากฟัน และเพิ่มพื้นที่ของเนื้อฟันที่หายไป ทำให้ครอบฟันยึดได้ดีขึ้น


Q&A

Q: เดือยฟันกับรากฟันเทียม เหมือนกันหรือไม่

A: ไม่เหมือน โดยเดือยฟันจะใช้ปักลงไปในรากฟันที่ทำการรักษารากมาแล้ว (มีฟันของตัวเองจริง ๆ อยู่) ส่วนรากเทียมจะปักลงไปในกระดูกที่เคยถอนฟันมาแล้ว เป็นช่องเหงือกว่าง ๆ (ไม่มีฟันตรงตำแหน่งนั้นแล้ว)

Q: ระยะเวลาในการปักเดือย

A: ประมาณ 1 ชั่วโมง

Q: เจ็บไหม ?

A: คนไข้จะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กับตอนรักษารากฟัน ไม่เจ็บปวด

  • ครอบฟัน

เป็นการซ่อมแซมและปกป้องฟันที่ได้รับความเสียหาย แตกหัก ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันมาแล้ว หรือใส่ไว้บนรากเทียม

เพื่อความสวยงาม และสามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

จะครอบฟันเมื่อไหร่ ?

1.เมื่อฟันร้าว ฟันบิ่น หรือแตกหักเป็นบริเวณกว้าง (เกินกว่าจะอุดฟันได้)

2.เมื่อลองอุดด้วยวัสดุอุดฟัน แล้ววัสดุอุดหลุด บิ่น แตก จากการใช้งานบ่อยครั้ง

3.เมื่อมีฟันรูปร่างผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อความสาวยงาม เช่น ฟันหน้าที่ซี่เล็กผิดปกติ

4.เมื่อรักษารากฟันแล้ว เนื้อฟันที่ดีจะเหลือน้อย ทำให้แตกหักได้ง่าย จึงครอบฟันไว้เพื่อให้ฟันซี่นั้นมีความแข็งแรงสามารถใช้งานได้ตามปกติ

5.เมื่อปักรากเทียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว (มักรอ 3-6 เดือนหลังปักรากเทียม เพื่อการยึดติดกับกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุด)

6.เมื่อต้องใช้รอบรับฟันปลอมถอดได้ ในบางตำแหน่ง

  • สะพานฟัน

เป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น เพื่อทดแทนฟันที่หาย/ถูกถอนไป ตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไปในด้านเดียวกัน ลักษณะจะเหมือนครอบฟันหลายซี่เชื่อมกัน

ข้อดีของสะพานฟัน

1.ไม่ต้องถอดเข้าออก ไม่ต้องมีฐานฟันปลอมใหญ่ ๆ ซึ่งเกะกะเวลาพูดและรับประทานอาหาร

2.สวยใกล้เคียงฟันธรรมชาติ

3.ช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวให้เป็นไปตามปกติ ไม่ลงไปที่ฟันข้างเคียงมากเกินไป

4.ช่วยรักษาตำแหน่งและการทำงานของฟันให้เป็นไปตามธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้ฟันล้มมาในช่องว่าง

ข้อจำกัดของสะพานฟัน

1.ต้องมีฟันหน้าและหลังของบริเวณที่จะทำ

2.ต้องสูญเสียเนื้อฟันซี่หน้าและซี่หลัง เพื่อจะเป็นหลักยึดของสะพานฟัน

3.หากสูญเสียฟันไปมากกว่า 2-3 ซี่ สะพานฟันจะยาว อาจจะทำให้สะพานฟันแอ่นและอาจจะส่งผลเสียต่อฟันที่เป็นหลักยึดได้

ชนิดของครอบฟัน/สะพานฟัน

1.ชนิดที่เป็นโลหะล้วน : เหมาะกับฟันกรามด้านใน ที่คนไข้ไม่ต้องการความสวยงาม เน้นความแข็งแรงเวลาใช้งาน

2.ชนิดที่เป็นเซรามิกล้วน : เหมาะกับบริเวณที่ต้องการความสวยงามมากเป็นพิเศษ เช่น ฟันหน้า ครอบฟัน/สะพานฟัน

ชนิดนี้จะเลียนแบบสีและความใสได้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติ

3.ชนิดโลหะผสมเซรามิก : เหมาะกับฟันที่ต้องการความแข็งแรงในการบดเคี้ยว แต่ยังอยากคงความสวยงามไว้บางส่วนด้วย

ขั้นตอนการทำครอบฟัน/สะพานฟัน

คนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์ ประมาณ 2-3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก

1.ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปาก และประเมินจากฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสมต่อฟันบริเวณนั้น

2.ทันตแพทย์จะอธิบายถึงครอบฟัน/สะพานฟัน แต่ละประเภท ข้อดีข้อเสีย เพื่อให้คนไข้ตัดสินใจ

3.หากตัดสินใจทำเลย ในบางกรณีทันตแพทย์จะพิมพ์ปาก เพื่อเตรียมครอบฟันชั่วคราว/สะพานฟันชั่วคราว สำหรับใช้ในครั้งหน้าไว้เลย

ครั้งที่สอง

1.ทันตแพทย์จะฉีดยาชาและกรอฟันเพื่อเป็นฐานให้แก่ฟันที่จะนำมาครอบฟัน/สะพานฟัน

2.เลือกสีฟัน และพิมพ์ฟันเพื่อส่งไปยังห้องแลปเพื่อทำครอบฟัน

3.ทันตแพทย์จะทำการติดครอบฟัน/สะพานฟันชั่วคราวให้ สำหรับใช้งานระหว่างการรอครอบฟัน/สะพานฟันแบบถาวร ควรดูแลและทำความสะอาดสุขอนามัยภายในช่องปากขณะติดครอบฟัน/สะพานฟันชั่วคราว

หากครอบฟัน/สะพานฟันชั่วคราวมีอาการหลวมหรือหลุด ให้พยายามใส่ฟันไว้ตำแหน่งเดิมและทำการนัดทันตแพทย์เพื่อรักษาและแก้ไข หากไม่สามารถใส่กลับลงไปตำแหน่งเดิมได้ให้รีบมาพบทันตแพทย์พร้อมนำครอบชั่วคราวชิ้นส่วนนั้นมาด้วย

ครั้งที่สาม

1.ทันตแพทย์จะรื้อครอบฟัน/สะพานฟันชั่วคราวออก

2.ลองครอบฟัน/สะพานฟันจริงจริง เช็คความสวยงามขอบครอบฟัน/สะพานฟัน และการกัดสบต่าง ๆ แล้วจึงยึดด้วยกาวถาวร

อาการที่สามารถพบได้หลังทำครอบฟัน/สะพานฟัน

- เสียวฟันเวลาทานอาหารหรือดื่มน้ำเย็น ในซี่ที่ครอบฟันช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังทำ หลังจากนั้นอาการควรจะหายไปได้เอง หากไม่หายควรนัดทันตแพทย์เพื่อการตรวจรักษา

- กัดลงบนครอบฟันแล้ว รู้สึกค้ำ มีจุดสบสูง แนะนำเข้ามากรอแต่งเพื่อปรับระดับครอบฟัน


การดูแลครอบฟัน/สะพานฟัน

เนื่องจากครอบฟัน/สะพานฟันเป็นวัสดุที่แข็งแรงกว่าเนื้อฟัน จึงจะไม่พบการผุบริเวณที่เป็นครอบฟัน แต่มักจะพบรอยผุตามขอบของครอบฟัน/สะพานฟัน รวมถึงการอักเสบของเหงือกบริเวณรอบ ๆ ซึ่งเกิดจากการทำความสะอาดที่ไม่เหมาะสม หลังจากได้รับการรักษาจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้


  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งๆภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังทำ

  • ควรเริ่มจากการรับประทานอาหารอ่อน ๆ เพื่อให้ร่างกายชินกับครอบฟัน/สะพานฟัน

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ โดยต้องทำความสะอาดใต้สะพานฟันโดยการร้อยไหมขัดฟันเข้าไป (ทันตแพทย์จะอธิบายอย่างละเอียดอีกครั้ง)

  • หลีกเลี่ยงการใช้ฟันและสะพานฟันกัดของแข็ง เช่น น้ำแข็งหรือใช้ฟันและสะพานฟันเปิด ฝาขวดเบียร์ ฝาน้ำอัดลม

  • ไม่ควรใช้นิ้วงัดแงะ หรือใช้ลิ้นดุน บริเวณที่ใส่สะพานฟัน

  • ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำตามนัด หรือ ทุก ๆ 6เดือน เพื่อตรวจว่ามีผุหรือรอยรั่วตามขอบครอบฟัน/สะพานฟันหรือไม่

ปรึกษาทำฟันฟรี จองคิวล่วงหน้า Line@siamnon