การรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน

เป็นการรักษาที่ทำในฟันที่ผุแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา มีการลุกลามของโรคทำลายฟันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงชั้นโพรงประสาทฟันเกิดการอักเสบและเกิดฝีหรือหนองที่ปลายรากฟันตามมา หากยังทิ้งไว้ต่อไปไม่ทำการรักษา อาจต้องถอนฟันทิ้งแล้วใส่ฟันปลอม ซึ่งทานอาหารและใช้งานไม่สบายเทียบเท่าฟันจริง

อาการ

มีอาการปวดฟัน ไม่ใช่แค่เสียวฟัน อยู่เฉย ๆ แล้วปวด อาจเป็นมากขึ้นเมื่อเคี้ยวอาหาร โดนของร้อน ของเย็น อาการปวดฟันจะเป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งจะปวดอย่างรุนแรงจนนอนไม่ได้ อาจมีเหงือกบวมหรือมีหนองบริเวณซี่ที่ปวดร่วมด้วย




ข้อดีของการรักษารากฟัน


1. สามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ใช้งานต่อได้ ซึ่งจะดีกว่าฟันปลอมอื่น ๆ ที่ใส่หลังจากการถอนฟัน

2. หลังจากการรักษา สามารถใช้งานได้ตามปกติเหมือนฟันทั่วไป

3. ช่วยขจัดแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการอักเสบ

4. ช่วยขจัดความเจ็บปวด

5. ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของบริเวณที่ติดเชื้อ

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

1. ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อตรวจดูรูปร่างคลองรากฟันรอยโรคปลายรากฟันและขอบของโพรงฟันที่ผุ

2. ทันตแพทย์จะประเมินความยากง่าย และอธิบายการรักษาให้คนไข้ฟัง ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีขั้นตอนการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น


  • เนื้อฟันเสียหายไปมาก : ต้องก่อฟันขึ้นมาใหม่ ก่อนทำการรักษา

  • รอยโรคปลายรากมีขนาดใหญ่ : ต้องเปลี่ยนยาในคลองรากหลายครั้งกว่า

  • ขอบของโพรงฟันผุอยู่ใต้เหงือก : ต้องกรอกระดูก เพื่อให้มีเนื้อฟันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อการบูรณะฟันหลังการรักษา

  • ฟันที่มีหลายคลองราก เช่น ฟันกรามใหญ่ อาจจะใช้เวลาในการรักษานานกว่าฟันหน้าที่มีคลองรากเดียว


3. หากฟันยังมีอาการปวด หรือเจ็บเหงือก ทันตแพทย์จะใส่ยาชา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขณะทำการรักษา

4. ทันตแพทย์จะกรอเอาส่วนที่ผุและประสาทฟันที่ติดเชื้อออกไปและจะทำการขยายเพื่อทำความสะอาดและล้างคลองรากฟันเพื่อกำจัดเชื้อโรคออกไป

5. หลังจากนั้นจะใส่ยาฆ่าเชื้อแล้วปิดด้วยวัสดุชั่วคราว ทิ้งไว้ 5-7 วัน จึงกลับมาเปลี่ยนยา ทำแบบนี้ไปจนกว่าจะไม่มีอาการที่แสดงว่ายังมีการติดเชื้อหลงเหลืออยู่

6. หลังจากทันตแพทย์มั่นใจแล้วว่าสามารถกำจัดเชื้อได้แล้ว จะทำการอุดปิดคลองรากฟัน และเช็คอาการเป็นระยะ จนมั่นใจว่าไม่มีอาการจึงทำการบูรณะฟันต่อไป

สิ่งที่พบได้จากการรักษารากฟัน

1. อาจจะมีอาการปวด ในวันที่ทำการรักษา สามารถทานยาบรรเทาอาการแล้วอาการปวดจะหายไปได้เอง

2. หลังอาการปวดหายไป คนไข้อาจจะคิดว่าฟันซี่นั้นหายจากโรคแล้วจึงไม่มาทำการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะที่ไม่ปวดเนื่องจากเอาประสาทฟันออกไปแล้ว แต่เชื้อโรคต่าง ๆ ยังไม่หมด หนองปลายรากฟันยังไม่ได้รับการรักษา หากทิ้งไว้นาน อาการมักจะลุกลาม ต้องเริ่มทำการรักษาใหม่ หรืออาจจะเก็บฟันไว้ไม่ได้แล้ว

3. ฟันที่รักษาคลองรากฟันแล้วเมื่อนานไปอาจจะมีสีเหลืองเข้มกว่าฟันซี่อื่นที่อยู่ข้างเคียง มีสาเหตุมาจากการที่กำจัดเส้นเลือดและประสาทฟันออก ทำให้ไม่มีอาหารมาหล่อเลี้ยง หากอยากให้ฟันกลับมามีสีขาวใกล้เคียงปกติ อาจจะต้องรักษาด้วยการฟอกสีฟัน จากด้านในตัวฟัน หรือครอบฟัน หรือวีเนียร์เพื่อปิดสีที่คล้ำลง

4. ส่วนใหญ่ฟันที่รักษารากฟันแล้วจะมีความเปราะ เนื่องจากการกำจัดเส้นเลือดเส้นประสาทออกไป อีกทั้งเนื้อฟันยังเหลือน้อย ทำให้ฟันแตกได้ง่ายหลังการรักษา ทันตแพทย์จึงมักจะแนะนำให้คนไข้รับการปักเดือยและทำครอบฟันหลังการรักษารากฟันร่วมด้วย

5. หลังจากรักษารากฟันแล้ว หากทำความสะอาดไม่ดี มีฟันผุเพิ่ม หรือมีฟันผุใต้ครอบฟัน อาจจะทำให้มีการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งต้องมาทำการรักษารากฟันใหม่อีกครั้ง เพราะฉะนั้นการดูแลฟันให้ดี แปรงฟันให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญ

ปรึกษาทำฟันฟรี จองคิวล่วงหน้า Line@siamnon